ขนาดของถุงเต้านมที่ใส่เพื่อเสริมขนาดของเต้านมให้ใหญ่ขึ้น ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใส่ได้ทุกขนาดตามความต้องการ แต่ต้องขึ้นอยู่กับ ความเหมาะสมและลักษณะทางกายวิภาคหน้าอกของตนเองด้วย วิธีการประเมินไซส์ซิลิโคนจะสามารถประเมินได้จากความหนาของเนื้อเต้านม ความกว้างของหน้าอก ที่ทำการวัดจากกระดูกไหปลาร้า กระดูกทรวงอก บริเวณหัวนม บริเวณลานนมและบริเวณฐานเต้านม ซึ่งขั้นตอนและวิธีการแพทย์ผู้ทำการศัลยกรรมจะเป็นผู้คำนวณตามความถนัดของตนเอง ค่าที่คำนวณออกมาได้จะเป็นค่าน้อยสุดถึงค่าที่มากสุดที่ของขนาดเต้านมที่สามารถเลือกขนาดได้นั่นเอง ซึ่งก่อนที่จะทำการเสริมหน้าอกแพทย์ยังจะต้องทำการตรวจร่างกายก่อนทำการผ่าตัดทุกอย่างรวมถึงการตรวจเต้านมเพื่อตรวจหาความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับเต้านมด้วยทุกครั้ง ซึ่งการตรวจจะเน้นไปที่การตรวจหาโรคและความผิดปกติที่บริเวณกระดูกทรวงอก กล้ามเนื้อ ผิวหนังและต่อมน้ำเหลือง ผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.กลุ่มคนมีประวัติ คือ กลุ่มคนที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับเต้านม เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือเคยได้รับยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่นาน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคที่บริเวณเต้านมได้
2.กลุ่มที่มีความผิดปกติ คือ กลุ่มที่เคยตรวจพบความผิดปกติที่บริเวณเต้านม เช่น ก้อนเนื้อที่บริเวณเต้านม ผู้ที่มีอาการเจ็บเต้านมบ่อยหรือมากผิดปกติ มีน้ำไหลออกมาจากหัวนมหรือมีแผลเกิดขึ้นที่ผิวหนังของเต้านมโดยไม่ทราบสาเหตุ สำหรับการตรวจเต้านมแล้วพบว่าคนไข้มีก้อนเนื้อต้องทำการตรวจอย่างถี่ถ้วนว่าก้อนเนื้อดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ถ้าเป็นก้อนเนื้อที่ไม่เป็นอันตรายก็สามารถทำการเสริมหน้าอกได้
3.กลุ่มที่มีอายุเกิน 35 ปี คนในกลุ่มนี้หากต้องการเสริมหน้าอกจะต้องทำการตรวจคัดกรองโรคที่มีความเสี่ยงที่บริเวณเต้านมอย่างละเอียด
หลายคนที่เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกต้องการเต้านมที่ใหญ่เกิดความจำเป็น แต่แพทย์ไม่ทำการเสริมให้ตามขนาดที่ต้องการ เนื่องจากการเสริมหน้าอกที่มีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นจะต้องทำการเลาะเนื้อหรือกล้ามเนื้อให้เกิดช่องว่างที่มีขนาดใหญ่ตามขนาดของซิลิโคน จึงมีความเสี่ยงที่เส้นประสาทและเส้นเลือดจะถูกตัดออก ส่งผลให้เกิดอาการชา เลือดออกมากและมีอาการเจ็บปวดมาก และในระยะยาวจะมีอาการ ผิวหนังแตกลาย หนังเกิดการยืดคราก เต้านมมีการย้อยต่ำมากกว่าปกติ เต้านมมีลักษณะเป็นลอนคลื่นอย่างเห็นได้ชัด บริเวณหัวนมและเต้านมมีความรู้สึกชาหรือไร้ความรู้สึก การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทำได้ด้วยการผ่าตัดใหญ่เท่านั้น และบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขให้เต้านมกลับมาสวยงามเช่นเดิมได้
ผู้ที่สามารถทำการเสริมหน้าอกได้ควรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สำหรับหญิงที่ให้นมบุตรควรหยุดให้นมบุตรหรือหยุดปั้มนมอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อที่เต้านมจะกลับเข้าสู่สภาพปกติก่อนที่จะมีน้ำนมหรือผู้ที่อยู่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักต้องรอให้น้ำหนักคงที่อย่าองน้อย 6 เดือนเช่นเดียวกัน เพื่อที่ขนาดของซิลิโคนที่เสริมเข้าไปจะได้พอดีกับขนาดของลำตัวนั่นเอง ผู้ที่ทำการเสริมหน้าอกแล้วเมื่อตั้งท้องก็สามารถให้น้ำนมบุตรได้ตามปกติแต่ปริมาณน้ำนมที่มีอยู่อาจจะน้อยกว่าคนที่ไม่ได้เสริมหน้าอกอยู่บ้าง